October Putsch; October Event (1993)

กบฏเดือนตุลาคม, เหตุการณ์เดือนตุลาคม (๒๕๓๖)

​​​​​     กบฏเดือนตุลาคมเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin)* ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) กับรัฐสภาแห่งผู้แทนประชาชน (Congress of People’s Deputies) ระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ ประธานาธิบดีเยลต์ซินต้องการลดอำนาจรัฐสภาด้วยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทำให้รัฐสภาและรัฐบาลขึ้นต่อประธานาธิบดี รัฐสภาจึงกล่าวหาประธานาธิบดีว่าดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและ ประกาศโค่นอำนาจประธานาธิบดีโดยใช้ตึกรัฐสภาเป็นศูนย์บัญชาการ เยลต์ซินซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพจึงตอบโต้ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินและใช้กำลังทหารปิดล้อมรัฐสภาและนำไปสู่การปะทะกันที่รุนแรงและนองเลือด กบฏเดือนตุลาคมนับเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่นองเลือดที่สุดในรัสเซียนับตั้งแต่การปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗
     กบฏเดือนตุลาคมหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเหตุการณ์เดือนตุลาคมเป็นผลสืบเนื่องจากหลักนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของเยลต์ซินใน ค.ศ. ๑๙๙๒ ซึ่งมีเป้าหมายจะล้มล้างเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางที่ใช้มากว่า ๗๐ ปีให้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี มีการปล่อยราคาสินค้าลอยตัวกว่าร้อยละ ๙๐ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ทั้งรัฐยกเลิกเงินสนับสนุนอุตสาหกรรมและรัฐวิสาหกิจ และออกกฎหมายล้มละลายที่กำหนดว่าวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพต้องปิดตัวลง มีการตัดค่าใช้จ่ายด้านการพัฒนาอาวุธ ด้านสวัสดิการทางสังคมและการศึกษาตลอดจนกำหนดมาตรการเพิ่มภาษีและอื่น ๆ นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นทุกขณะจากที่เคยขยับตัวขึ้นร้อยละ ๒๕๐ ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๙๒ เป็นร้อยละ ๙๐๐ ในเดือนมีนาคม และในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๒ ราคาสินค้าทั่วไปที่ต่ำสุดก็มีราคาเฉลี่ยสูงถึง ๓๐ เท่าของราคาในต้นปี แม้ร้านค้าจะมีสินค้าหลากหลายและมีปริมาณมากขึ้นแต่ประชาชนทั่วไปก็ไม่สามารถซื้อได้เพราะปัญหาอัตราเงินเฟ้อ และทุกคนตกอยู่ในสภาพยากจนและโดยเฉลี่ยมีรายได้ต่ำกว่า ๘,๕๐๐ รูเบิลต่อเดือนหรือประมาณ ๑๐ ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น กระแสการต่อต้านรัฐบาลจึงก่อตัวและขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ รัฐสภาซึ่งมีอะเล็กซานเดอร์ รุตสกอย (Alexander Rutskoi)* รองประธานาธิบดีและรุสลันฮัสบูลาตอฟ (Ruslan Khasbulatov) โฆษกของรัฐสภาโซเวียตสูงสุดเป็นผู้นำจึงเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ
     ทั้งรุตสกอยและฮัสบูลาตอฟเรียกร้องให้มีการควบคุมสินค้าและให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลอดจนให้ปกป้องและคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ทั่วไปของประชาชน การต่อต้านของรัฐสภาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมีผลให้ประธานาธิบดีเยลต์ซินยอมปลดเยกอร์ ไกดาร์ (Yegor Gaidar) รองประธานาธิบดีซึ่งรับผิดชอบนโยบายเศรษฐกิจออกและแต่งตั้งวิคตอร์ เชียร์โนมืยร์ดิน (Viktor Chernomyrdin) ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมพลังงานเข้าดำรงตำแหน่งแทน ขณะเดียวกัน รัฐสภาก็พยายามทอนอำนาจประธานาธิบดีลงซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีกับรัฐสภา รัฐสภาได้แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการเพิ่มอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเหนือฝ่ายบริหารและนายกรัฐมนตรีรวมทั้งตำแหน่งสำคัญ ๆ ในคณะรัฐบาลที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตลอดจนรัฐบาลต้องขึ้นต่อรัฐสภาและสภาโซเวียตสูงสุดด้วยและอื่น ๆ เยลต์ซินหาทางออกด้วยการเสนอให้ประชาชนลงประชามติว่าจะสนับสนุนประธานาธิบดีหรือรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court) ในเวลาต่อมาได้เข้ามาไกล่เกลี่ยด้วยการยกเลิกข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะเป็นการประนีประนอมอำนาจระหว่างรัฐสภากับประธานาธิบดีได้โดยกำหนดให้มีการลงประชามติในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๓
     ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๙๓ เชียร์โนมืยร์ดินเริ่มนโยบายการควบคุมราคาและตรึงราคาสินค้าที่จะทำกำไรให้แก่ฝ่ายที่ฉกฉวยได้ประโยชน์ ฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีคิดว่ามาตรการดังกล่าวคือชัยชนะ แต่สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้นและภาวะเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้นตลอด ค.ศ. ๑๙๙๓ ผลิตผลทางอุตสาหกรรมตกต่ำกว่าร้อยละ ๒๕ ในระหว่างปีและอัตราแลกเปลี่ยนไม่คงที่ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๒ หนึ่งดอลลาร์สหรัฐแลกได้ ๔๕๐ รูเบิลแต่ในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๓ เท่ากับ ๑,๒๕๐ รูเบิล แม้การขาดแคลนอาหารและสินค้าต่าง ๆ จะหมดไปแต่ก็มีคนจำนวนน้อยที่มีกำลังเงินจะซื้อได้ ประชาชนทั่วไปมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากและกำลังอยู่ในภาวะดิ่งลงเหว ยิ่งธนาคารผลิตเงินเพื่อหมุนเวียนให้มากขึ้น ค่าเงินเฟ้อก็สูงขึ้นและคนที่มีเงินออมประสบความหายนะ จำนวนคนขอทาน คนไร้ที่อยู่อาศัย คนติดสุราและยาเสพติดรวมทั้งโสเภณีเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จนกล่าวกันว่าโซเวียตที่เคยเป็นอภิมหาอำนาจกำลังถอยหลังไปสองศตวรรษสู่ยุค "ความป่าเถื่อน" ของระบอบทุนนิยม
     นอกจากปัญหาเศรษฐกิจที่เสื่อมถอยแล้วปัญหาการเมืองก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง ความเปราะบางของระบอบประชาธิปไตยในรัสเซียหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีกับรัฐสภารุนแรงมากขึ้นอีก รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดอำนาจที่ชัดเจนระหว่างประธานาธิบดีกับรัฐสภา รัฐสภาจึงอ้างว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาเป็นองค์กรสูงสุดของรัฐที่มีอำนาจปกครองประเทศโดยชอบธรรม แต่การที่เยลต์ซินพยายามสร้างฐานอำนาจ ด้วยการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาหน่วยงานและองค์กรอิสระที่ทำงานให้ประธานาธิบดี เขาจึงถูกกล่าวหาว่ากำลังสร้างระบบบริหารจัดการแบบกลุ่มมาเฟียขึ้นและเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม การช่วงชิงอำนาจระหว่างประธานาธิบดีกับรัฐสภาจึงก่อตัวขึ้นอีกครั้ง และนำไปสู่วิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๓
     เมื่อรัฐสภาประกาศยกเลิกการลงประชามติที่ได้กำหนดไว้ในเดือนเมษายน เยลต์ซินจึงตอบโต้ด้วยการประกาศใช้อำนาจบริหารพิเศษเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ โดยถือว่าคำสั่งของประธานาธิบดีคืออำนาจสูงสุดของประเทศและรัฐสภาไม่มีอำนาจล้มล้างอำนาจประธานาธิบดี ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีก็ออกกฎหมายจัดตั้งระบบผู้แทนของประธานาธิบดีในหัวเมืองและจัดตั้งคณะบริหารว่าด้วยเรื่องดินแดน (Administration for Territorial Affairs) เพื่อให้ประธานาธิบดีสามารถควบคุมภูมิภาคต่าง ๆ ได้ เยลต์ซินยังออกโทรทัศน์แจ้งให้ประชาชนทราบว่าเขาจะสถาปนาระบบ ปกครองแบบพิเศษขึ้นโดยประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาดและจะจัดให้มีการลงประชามติในวันที่ ๒๕ เมษายน
     อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้าแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาตัดสินว่าการกระทำของประธานาธิบดีละเมิดรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะฟ้องให้ขับประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ ก็ลงมติขับประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียง ๖๗๑ ต่อ ๒๖๘ แม้เยลต์ซินจะพ่ายแพ้แต่การจะปลดเขาออกจากตำแหน่งได้ต้องมีคะแนนเสียง ๓ ใน ๔ คือ ๗๘๐ เสียงเยลต์ซินจึงยังคงรักษาอำนาจไว้ได้และฉลาดพอที่จะยอมประนีประนอมกับรัฐสภาด้วยการยกเลิกการใช้อำนาจบริหารพิเศษ รัฐสภาก็ยอมให้มีการลงประชามติดังเดิมแต่ยกเลิกประเด็นการลงประชามติที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
     ในการลงประชามติเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๓ คำถาม ๔ ข้อที่ประชาชนต้องตัดสินใจคือ ๑) ยังคงไว้วางใจประธานาธิบดีหรือไม่ ๒) เห็นด้วยกับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมที่ดำเนินการมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๒ หรือไม่ ๓) เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเร็วขึ้นหรือไม่ และ ๔) เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเร็วขึ้นหรือไม่ ผลปรากฏว่าผู้มาลงประชามติ ๖๙.๒ ล้านคนจากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ๑๐๗.๓ ล้านคน ร้อยละ ๕๘ ยังคงไว้วางใจประธานาธิบดี ร้อยละ ๕๓ เห็นด้วยกับนโยบายปฏิรูปที่ดำเนินอยู่ ร้อยละ ๓๑.๗ เห็นด้วยกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเร็วขึ้น และร้อยละ ๔๓.๑ เห็นด้วยกับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเร็วขึ้น ภายหลังการลงประชามติเยลต์ซินมีความเชื่อมั่นในแนวทางการปฏิรูปของเขามากขึ้นและต่อมาวางแผนที่จะลดอำนาจรัฐสภาด้วยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้อำนาจมากขึ้นแก่ประธานาธิบดีและให้รัฐสภาและรัฐบาลขึ้นต่อประธานาธิบดี ขณะเดียวกันเขาก็เจรจาขอความสนับสนุนจากกองทัพ แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน
     รัฐสภาตอบโต้ด้วยการออกพระราชบัญญัติยกเลิกอำนาจยับยั้งของประธานาธิบดี โดยกำหนดว่าหากประธานาธิบดีฝ่าฝืนมติของรัฐสภา ประธานาธิบดีจะถูกดำเนินคดีฐานก่ออาชญากรรม เยลต์ซินขุ่นเคืองมากและในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน เขาออกกฎหมายประธานาธิบดีหมายเลข ๑๔๐๐ เรื่อง On the Stages of Constitutional Reform in the Russian Federation โดยยุบสภาและให้อำนาจประธานาธิบดีบริหารประเทศโดยพฤตินัย ทั้งกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภารวมทั้งการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ ๑๑-๑๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ รัฐสภาต่อต้านกฎหมายประธานาธิบดีด้วยการประกาศให้อะเล็กซานเดอร์ รุตสกอย รองประธานาธิบดีเป็นประธานาธิบดีของสหพันธรัฐรัสเซีย ในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ผู้นำรัฐสภาได้ติดอาวุธให้แก่พลเรือนอาสาสมัครที่เต็มใจจะปกป้องรัฐสภา ในวันต่อมา มีการเรียกประชุมสภาครั้งที่ ๑๐ อย่างฉุกเฉินที่ตึกรัฐสภาหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ทำเนียบขาว (White House) และที่ประชุมมีมติว่าประธานาธิบดีดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ รุตสกอยและสมาชิกสภาส่วนใหญ่ประกาศต่อสู้โค่นล้มเยลต์ซินจนถึงที่สุดโดยใช้ตึกรัฐสภาเป็นศูนย์บัญชาการ มีการตั้งเครื่องกีดขวางเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลรุกล้ำเข้าไปในตึกรัฐสภา เยลต์ซินสั่งตัดการติดต่อสื่อสารกับรัฐสภาและใช้สถานีโทรทัศน์ซึ่งสนับสนุนเขาออกข่าวชี้แจงการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพของสภาและตำหนิผู้นำรัฐสภาที่ต้องการอำนาจ ขณะเดียวกัน เขาก็ออกกฎหมายพิทักษ์สิทธิของผู้แทนรัฐสภาที่ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๐-๑๙๙๕ ซึ่งเป็นเสมือนการติดสินบนสมาชิกสภาให้สนับสนุนเขาด้วยเยลต์ซินยังสั่งปิดสื่อสิ่งพิมพ์ของรัฐสภาและใช้ระบบเซนเซอร์ควบคุมข่าวสารตลอดจนให้กองทัพล้อมรัฐสภาโดยห้ามผู้คนเข้าตึกรัฐสภาแต่อนุญาตให้คนในรัฐสภาออกมาได้ นายพลปาเวล กราเชฟ (Pavel Grachev) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพยายามประวิงเวลาการเคลื่อนกำลังทหารเข้าสู่กรุงมอสโกและให้ความเห็นว่าฝ่ายรัฐสภากำลังวางแผนก่อการร้ายที่อาจนำไปสู่การนองเลือด ทั้งสองฝ่ายต่างตรึงกำลังเผชิญกันระหว่างวันที่ ๒๑ พฤศจิกายนถึง ๓ ตุลาคม และจำนวนผู้ต่อต้านประธานาธิบดีนอกรัฐสภาก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เยลต์ซินพยายามกดดันสมาชิกรัฐสภาให้ออกจากตึกรัฐสภาด้วยการตัดน้ำ ตัดไฟและเครื่องทำความร้อนซึ่งมีผลให้สมาชิกรัฐสภาราว ๑๑๐ คนยอมออกมา แต่อีก ๓๐๐ กว่าคนยังคงยืนหยัด
     ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกรุงมอสโกที่เรียกกันทั่วไปว่ากบฏเดือนตุลาคมทำให้ผู้นำสาธารณรัฐเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States CIS)* อื่น ๆ ซึ่งดำเนินนโยบายเฝ้าดูเหตุการณ์ (wait and see) เรียกร้องให้ทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภายุติการเผชิญหน้าและให้เยลต์ซินยกเลิกการปิดล้อมรัฐสภา แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่ส่งผลในทางปฏิบัติเพราะไม่มีการดำเนินการใด ๆ ที่ชัดเจน ในวันอาทิตย์ที่ ๓ ตุลาคม สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อตำรวจที่ล้อมรัฐสภายอมเปิดทางให้ผู้สนับสนุนรัฐสภากลุ่มใหญ่เข้าไปในอาคารรัฐสภาได้ รุตสกอยและนายพลมาคาชอฟ (Makashov) ซึ่งเป็นแกนนำการต่อสู้ฝ่ายรัฐสภาจึงเข้าใจว่าตำรวจหันมาสนับสนุนประชาชน คนทั้งสองจึงนำผู้สนับสนุนกว่า ๒,๐๐๐ คนออกจากบริเวณรัฐสภาและบุกทำลายศาลาว่าการกรุงมอสโกซึ่งอยู่ตรงข้ามกับรัฐสภาทั้งพยายามยึดสถานีโทรทัศน์ใจกลางเมือง ขณะเดียวกัน แกนนำรัฐสภาก็เรียกร้องให้ประชาชนจับอาวุธขึ้นสู้ซึ่งมีส่วนทำให้นักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งหันมาต่อต้านรัฐสภาที่ยั่วยุประชาชนให้เข่นฆ่ากันเอง เยลต์ซินจึงเห็นเป็นโอกาสประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงมอสโกในวันที่ ๔ ตุลาคม ห้ามการชุมนุมและห้ามประชาชนออกจากที่พักอาศัย
     อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการปะทะกันขึ้นในช่วงเช้ามืด ประธานาธิบดีเยลต์ซินจึงตัดสินใจใช้กำลังทหารยุติความวุ่นวาย และหน่วยรถถังที่ ๗๒ ได้ระดมยิงตึกรัฐสภาเพื่อบีบบังคับให้ฝ่ายต่อต้านออกจากตึกรัฐสภาซึ่งนำไปสู่การต่อสู้ที่ ดุเดือดและนองเลือด ฝ่ายที่สนับสนุนประธานาธิบดีมีชัยชนะในท้ายที่สุด สมาชิกรัฐสภาถูกจับทั้งหมดและหลายคนถูกตำรวจทำร้ายสาหัสประมาณว่าฝ่ายรัฐสภาเสียชีวิตเกือบ ๒๐๐ คน บาดเจ็บจำนวน ๗-๘๐๐ คน และถูกจับขังกว่า ๑,๐๐๐ คน ฝ่ายทหารและตำรวจเสียชีวิตประมาณ ๒๐ คน อีก ๑ เดือนต่อมาในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ ประชาชน รัสเซียร้อยละ ๕๓ ก็ลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีมากขึ้น
     กบฏเดือนตุลาคมที่สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของประธานาธิบดีนับเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่รุนแรงและนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์รัสเซียสมัยใหม่หลังการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ เยลต์ซินซึ่งสร้างชื่อเสียงให้ตนเองในฐานะนักปฏิรูปประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่และเป็นผู้นำคนแรกของประเทศที่ได้รับเลือกจากประชาชนทุกคนก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำประเทศคนแรกนับตั้งแต่สมัยโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ที่สร้างความด่างพร้อยแก่ระบอบประชาธิปไตยรัสเซีย ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน ค.ศ. ๒๐๐๒ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๑๐ ปีของกบฏเดือนตุลาคม ร้อยละ ๓๖ ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าการใช้กำลังปราบปรามเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และมีน้อยกว่าร้อยละ ๒๒ ที่เห็นว่าเหมาะสม อีกร้อยละ ๑๙ ไม่มีความคิดเห็น นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นว่าทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกบฏเดือนตุลาคมล้วนมีความผิด และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนประชาธิปไตยที่มีราคาแพงของรัสเซี



คำตั้ง
October Putsch; October Event
คำเทียบ
กบฏเดือนตุลาคม, เหตุการณ์เดือนตุลาคม
คำสำคัญ
- เชียร์โนมืยร์ดิน, วิคตอร์
- กราเชฟ, ปาเวล
- เยลต์ซิน, บอริส
- ฮัสบูลาตอฟ, รุสลัน
- ไกดาร์, เยกอร์
- กบฏเดือนตุลาคม
- รุตสกอย, อะเล็กซานเดอร์
- เครือรัฐเอกราช
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- คณะบริหารว่าด้วยเรื่องดินแดน
- สตาลิน, โจเซฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1993
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๕๓๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 7.O 753-832.pdf